ตรวจรอยร้าวระหว่างเสาและผนัง ร้าวแนวดิ่งแบบนี้แก้อย่างไร

354 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตรวจรอยร้าวระหว่างเสาและผนัง ร้าวแนวดิ่งแบบนี้แก้อย่างไร

ตรวจรอยร้าวระหว่างเสาและผนัง ร้าวแนวดิ่งแบบนี้แก้อย่างไร

        เคยเจอปัญหาผนังร้าวแนวดิ่งระหว่างที่เข้าไปตรวจบ้านกันไหม บอกเลยว่ามีโอกาสเจอสูงมาก แถมรอยร้าวแนวดิ่งก็มีหลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของโครงสร้างบ้าน เช่น บ้านมีเสาคาน บ้านผนังสำเร็จพรีคาสต์ หรือบ้านแบบผนังคอนกรีตรับแรงเทในที่ (Tunnel Wall)
        สำหรับวันนี้เรามีตัวอย่างบ้านประเภท “โครงการสร้างผนังก่ออิฐฉาบปูน” ซึ่งผนังมีรอยร้าวแบบที่ว่านี้คือร้าวระหว่างเสาคอนกรีตและผนังก่ออิฐ โดยการร้าวแบบนี้อาจพบได้ทั่วทั้งหลังเลยก็ได้ จะรอยเล็กรอยใหญ่เป็นไปได้หมด

สาเหตุหลักของปัญหารอยร้าวระหว่างเสา-ผนังเกิดจาก…

1.การยืดขยายตัวของวัสดุคนละชนิด
เนื่องจากเสาเป็นโครงสร้างคอนกรีต ส่วนผนังที่พบส่วนมากจะเป็นอิฐมวลเบา อิฐมอญ หรืออิฐบล็อกทั่วไป การยืดขยายตัวของวัสดุแต่ละชนิดก็จะแตกต่างกัน (ตามค่าสัมประสิทธิ์การยืดขยายตัว) จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการแตกร้าวตามขอบเสา โดยลักษณะการร้าวจากสาเหตุนี้จะแตกร้าวเป็นเส้นเล็กๆ

2.การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน
ปกติการก่อสร้างผนังมาชนเสาจะต้องเสียบเหล็กหนวดกุ้งหรือตะแกรงกันร้าว ถ้าไม่ได้ทำทั้งสองอย่างก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดรอยร้าวได้ 

2.1 การเสียบเหล็กหนวดกุ้งหรือ Metal Strab
ทุกๆ ระยะประมาณ 30-40 เซนติเมตรตามแนวดิ่ง และยาวเข้ามาฝังกับอิฐประมาณ 30 เซนติเมตรเพื่อยึดผนังกับเสาเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความแข็งแรงในการยึดเกาะ และลดการยืดขยายตัวหรือขยับตัวบริเวณรอยต่อ 

2.2 ตะแกรงกันร้าวหรือกรงไก่
สำหรับบริเวณรอยต่อนอกจากจะใส่เหล็กหนวดกุ้งแล้วควรจะใส่เหล็กกันร้าวหรือที่ช่างทั่วไปเรียกกันว่า “ตะแกรงกรงไก่” ด้วย โดยเจ้าเหล็กที่ว่านี้จะติดตั้งบริเวณรอยต่อระหว่างเสาและอิฐก่อที่ผิวปูนฉาบ

วิธีการตรวจสอบ
ถ้าเป็นบ้านสร้างเสร็จแล้วให้สังเกตตามรอยต่อระหว่างเสาและผนัง โดยควรจะมีแบบแปลนจากทางโครงการ เพราะจะได้รู้ตำแหน่งเสาที่ถูกต้อง (ปัจจุบันนี้หลายๆ โครงการชอบทำเสาหลอกให้สวยงาม อาจมองยากหน่อย)

ถ้าพบรอยแตกร้าวเล็กๆ ไม่ต้องตกใจนะ สามารถแจ้งทางโครงการเพื่อแก้ไขให้สกัดและยาแนวใหม่แล้วทาสีทับได้ แต่หากพบรอยร้าวมีขนาดใหญ่และร้าวยาวตลอดอาจผิดปกติ ควรแจ้งโครงการตรวจสอบในเรื่องเหล็กหนวดกุ้งและตะแกรงกันร้าว ซึ่งทางแก้หากพบว่าไม่ได้ใส่หรือทำไว้ก็สกัดผนังออกใส่เพิ่มได้เช่นกัน

พอจะได้เทคนิคเพิ่มเติมสำหรับการตรวจสอบรอยร้าวตามรอยต่อแล้วนะ เทคนิคนี้นอกจากใช้ตรวจสอบเสากับผนังแล้ว ยังสามารถนำไปใช้กับรอยต่อระหว่างคานกับผนังได้ด้วย

 

 

แหล่งที่มาข้อมูล : https://www.home.co.th/hometips/topic-3661

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้