โครงสร้างบ้าน กับ ความสำคัญของเสาและคาน “บ้าน” ที่คุณควรรู้

2680 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงสร้างบ้าน  กับ ความสำคัญของเสาและคาน “บ้าน” ที่คุณควรรู้

โครงสร้างบ้าน กับ ความสำคัญของเสาและคาน “บ้าน” ที่คุณควรรู้
โครงสร้างบ้าน ถ้าเปรียบบ้านคือร่างกายของมนุษย์ เสาและคานบ้านก็คือส่วนที่เป็นโครงกระดูก ซึ่งหมายถึงความมั่นคงแข็งแรงเป็นตัวยึดส่วนต่างๆของบ้านไว้ด้วยกัน ดังนั้นการสร้างบ้านให้ถูกต้องตามหลักของการก่อสร้าง จึงต้องพิจารณาเรื่องของเสาและคานตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นการออกแบบไปจนถึงกระบวกนการก่อสร้าง ซึ่งในปัจจุบันก็มีโครงสร้างเสาและคานหลากหลายประเภท แต่ที่นิยมกันมากที่สุด ก็คือ โครงสร้างไม้ โครงสร้างเหล็ก และโครงสร้างคอนกรีต ที่นี้เราลองมาดูกันดีกว่าว่าโครงสร้างแต่ละประเภทมีความสำคัญและคุณสมบัติแตกต่างกันอย่างไรคะ


1.โครงสร้างไม้


ในสมัยก่อนนั้นประเทศไทยยังมีทรัพยากรไม้อยู่เป็นจำนวนมากการจะหาไม้ที่มีคุณภาพดีและขนาดใหญ่เหมาะสมที่จะนำมาทำโครงสร้างก็ง่าย แต่ในปัจจุบันการจะหาไม้ที่ได้ตามคุณลักษณะเริ่มน้อยลงเต็มที่ประกอบกับราคาที่ค่อนข้างสูงขึ้น ยังไม่รวมถึงการที่ต้องบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอทำให้จะไม่ค่อยเห็นใครนำไม้มาทำโครงสร้างเสียเท่าไหร่


2.โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก


ในคอนกรีตจะมีส่วนประกอบหลักคือ ปูนซีเมนต์ หิน กรวดหรือทราย และน้ำ ทำให้มีคุณสมบัติเรื่องของการรับแรงอัดได้ดีแต่จะรับแรงดึงได้ค่อนข้างต่ำ ดังนั้นเมื่อนำไปทำเป็นโครงสร้างบ้านจึงต้องมีการเสริมเหล็กช่วยเพื่อจะได้เพิ่มคุณสมบัติในการรับแรงดึง ในประเทศเราจะนิยมใช้ ค.ส.ล สาเหตุมาจากเรามีสถาปนิกและวิศวกรที่มีความชำนาญในการออกแบบและช่างก่อสร้างเองก็ถนัดงานด้านคอนกรีตเป็นส่วนมาก ประกอบกับค่าของและค่าแรงไม่สูงเท่าไหร่ แถมยังให้ความรู้สึกว่ามั่นคง สามารถที่จะนำไปหล่อขึ้นรูปได้หลากหลายรูปแบบ ส่วนข้อเสียก็คือต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างนานพอสมควร เพราะต้องรอให้คอนกรีตมีการเซ็ทตัวให้มีประสิทธิภาพสูง ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการพัฒนาให้คอนกรีตสำเร็จรูปมีส่วนผสมและการผลิตที่ได้มาตรฐานมากขึ้น แต่ก็ยังต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบในขั้นตอนสำคัญของการเทคอนกรีต รวมทั้งความรับผิดชอบของช่างที่ควบคุมงานก่อสร้างด้วย ข้อควรระวังของการใช้โครงสร้าง ค.ส.ล.อีกอย่างก็คือ การผูกเหล็กและทาบเหล็กต้องให้ถูกต้องแล้วได้ตามมาตรฐาน มีระยะคอนกรีตที่หุ้มเหล็กที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดสนิมในเหล็ก เสา และคาน ต้องทำให้ได้ระดับทั้งแนวนอนและแนวดิ่ง มีการถอดไม้แบบออกตามระยะเวลาที่เหมาะสมในแต่ละส่วน และที่ลืมไม่ได้เด็ดขาดก็คือการบ่มคอนกรีตเพื่อให้ได้คอนกรีตที่แข็งแรงเต็มประสิทธิภาพในการนำไปใช้งาน

คุณอาจสนใจบทความนี้ อ่านดู ฮวงจุ้ยหน้าบ้าน


3.โครงสร้างเหล็ก


เหล็กที่นำมาใช้ในการทำเป็นโครงสร้างบ้านจะต้องเป็นเหล็กรูปพรรณ ในสมัยก่อนจะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศจึงส่งผลให้ราคาต้นทุนค่อนข้างสูง แต่ในปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตเหล็กรูปพรรณได้เอง จึงทำให้เราพบเห็นว่าช่วงหลังๆก็เริ่มมีการใช้โครงสร้างเหล็กกันมากขึ้น สาเหตุที่ควรใช้โครงสร้างเหล็ก เพราะเหล็กรูปพรรณจะถูกผลิตขึ้นมาจากโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งแน่นอนอยู่แล้วต้องมีผ่านการควบคุมมาตรฐานการผลิตมาอย่างดี สามารถสั่งผลิตเตรียมชิ้นส่วนจากโรงงานได้เลย เมื่อมาถึงหน้างานก็แค่เชื่อมประกอบเท่านั้นจึงทำให้ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างน้อยกว่าโครงสร้าง ค.ส.ล. ส่งผลให้ลดต้นทุนเรื่องเวลาและค่าใช้จ่ายอื่นๆได้ นอกจากนั้นแล้ว การออกแบบโครงสร้างที่ต้องรับน้ำหนักอาคารให้เท่ากัน โครงสร้างเหล็กจะมีขนาดเล็กและบางกว่าโครงสร้างค.ส.ล.จึงทำให้น้ำหนักโดยรวมจะเบาลงและทำให้ระบบของฐานรากของอาคารมีขนาดเล็กกว่าและประหยัดกว่า แต่ส่วนใหญ่เราจะพบโครงสร้างเหล็กที่ใช้กับตึกสูงเสียส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีคนนำมานิยมใช้เป็นโครงสร้างบ้าน สาเหตุจากแรงงานที่มีความชำนาญในการใช้โครงสร้างเหล็กมีน้อย อีกทั้งคุณสมบัติของเหล็กเองก็ไม่ทนไฟและการกัดกร่อน ก่อนที่จะนำมาใช้งานจึงต้องทำการป้องกันด้วยการห่อหุ้มวัสดุทนไฟ ทาสีกันสนิม และต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบโครงสร้างเหล็กอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้พอสมควร เมื่อเทียบกับราคาก่อสร้างแล้วมีความเป็นไปได้ว่าจะสูงกว่าการใช้โครงสร้างค.ส.ล.เล็กน้อย ส่วนข้อดีของโครงสร้างเหล็กอีกประการคือ เมื่อรื้อโครงสร้างของอาคารออก ยังสามารถนำเหล็กไปประกอบที่อื่นใหม่ได้และยังนำไปขายก็ได้ราคาอีกด้วย


ข้อเสนอแนะพิเศษ


การใช้ปูนซีเมนต์ในงานก่อสร้าง ต้องมั่นใจว่าใช้หล่อเสาและคานเป็นปูนที่ใช้ทำโครงสร้างบ้าน คือ “ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์” ไม่ควรนำปูนที่ใช้สำหรับงานฉาบมาใช้งานโครงสร้างโดยเด็ดดขาด เพราะไม่สามารถที่จะรับน้ำหนักมากๆได้
การผูกเหล็ก ทาบเหล็กต้องถูกต้องและแข็งแรง ในช่วงระยะเวลาการก่อสร้างบ้านอย่าลืมตรวจเช็คกับทางวิศวกรและช่างควบคุมงานด้วยว่ามีการผูกเหล็กและเทคอนกรีตได้ตรงตามแบบและระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่
เสาและคานต้องได้แนว การวางแนวดิ่งของเสาและคานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ขั้นแรกเราอาจจะดูด้วยสายตาเปล่าก่อนว่ามีการบิดเบี้ยวหรือผิดรูปหรือไม่ ขั้นตอนไปก็ใช้เป็นลูกดิ่ง เพื่อเพิ่มความแม่นยำและเที่ยงตรง โดยค่าความเบี่ยงเบนของเสาไม่ควรเกิน 1 เซนติเมตรต่อช่วงความยาวของเสา 3-4 เมตร เพราะหากมากกว่านี้ การรับน้ำหนักของเสาอาจได้น้อยกว่าที่กำหนดไว้
บ่มคอนกรีต อย่างที่เคยเตือนไว้ในตอนต้นว่าช่วงแกะแบบของเสาและคอนกรีตออกมาต้องมีกระบวนการ “บ่มคอนกรีต” โดยการทำพื้นผิวให้ชุ่มชื้นอาจจะใช้เป็นการหากระสอบคลุมและรดน้ำให้ชุ่ม หรือจะใช้เป็นพลาสติกคลุมรอบเสาและคอนกรีต เพื่อกันไม่ให้ความชื้นในคอนกรีตระเหยเร็วเกินไป ส่งผลให้เกิดการแตกร้าวในภายหลัง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้