"โฉนดที่ดิน" แบ่งเป็นกี่ประเภท สิทธิ์ครอบครองต่างกันอย่างไร

92 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"โฉนดที่ดิน" แบ่งเป็นกี่ประเภท สิทธิ์ครอบครองต่างกันอย่างไร

สรุปแล้ว "โฉนดที่ดิน" แบ่งเป็นกี่ประเภท สิทธิ์ครอบครองต่างกันอย่างไร

        ‘ที่ดิน’ มีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร..? มาดูที่ดินที่ถือครองกันว่าเป็นประเภทไหน มีสิทธิซื้อ ขาย หรือโอนเปลี่ยนมือหรือไม่ ก่อนที่จะถูกหลอก ที่สำคัญคือ หากไม่ได้ใช้ประโยชน์อาจถูกยึดคืนจากราชการ หรืออ้างสิทธิจากผู้ที่เข้ามาอยู่พื้นที่ของตัวเองได้ บ้านบ้านสรุปให้ "โฉนดที่ดิน" แบ่งเป็นกี่ประเภท สิทธิ์ครอบครองต่างกันอย่างไร ?? มาทำความรู้จักเอกสารสิทธิที่ดินให้มากขึ้นกันดีกว่า


ใบจอง หรือ น.ส.2
หนังสือที่ทางราชการออกให้ เพื่อแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราว นำไปขาย โอน หรือจำนองไม่ได้ ยกเว้นการโอนทางมรดกตกให้แก่ทายาทเท่านั้น

หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ น.ส.3
หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว เป็นเพียงสิทธิ์ครอบครอง นำไปขาย หรือจำนองไม่ได้

น.ส.3 ก. 

หนังสือรับรองการทำประโยชน์ เหมือนกับ น.ส.3, น.ส.3 ข. แต่มีการระวางรูปถ่ายทางอากาศ ทำให้มีการกำหนดตำแหน่งที่ดินชัดเจน สามารถขอออกโฉนดได้ทันที

โฉนดที่ดิน หรือ น.ส.4
เป็นเอกสารกรรมสิทธิที่ชัดเจนที่สุด "สามารถซื้อ ขาย และจำนอง" ได้ถูกต้องตามกฎหมาย บางคนมักเรียกว่าโฉนดหัวแดง หรือครุฑแดง มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ ทำให้รู้ตำแหน่งที่ตั้งชัดเจน รวมถึงมีรายละเอียดขอบเขตและจำนวนเนื้อที่ที่ชัดเจน



ส.ป.ก.4-01
เป็นหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เป็นเพียงการถือครองที่ดินเพื่อทำประโยชน์เท่านั้น จึงทำให้ผู้ถือครองจะไม่ได้กรรมสิทธิในที่ดิน และไม่สามารถขายหรือโอนได้ ยกว้นตกทอดทางมรดก ทั้งนี้หากผู้ที่ถือครองขาดคุณสมบัติหรือฝ่าฝืนกฎระเบียบ รวมถึงเสียชีวิตและไม่มีผู้มารับมรดกตกทอด ก็จะหมดสิทธิในการถือครองไป

สทก.
เป็น หนังสือสิทธิทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หนังสืออนุญาตนี้ครั้งแรกจะได้เป็น สทก.1 ก สามารถเข้าไปทำประโยชน์ได้ชั่วคราว 5 ปี ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งกรมป่าไม้จะเป็นผู้ออกหนังสือให้ เมื่อครบกำหนดและทำถูกต้องตามเงื่อนไขต่างๆ สามารถต่ออายุหนังสือได้ ทางราชการจะเปลี่ยนเป็นหนังสือ สทก.2 ก แทน ซึ่งจะมีอายุ 5 ปี แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมไร่ละ 20 บาท

สำหรับครอบครัวที่ครอบครองที่ดินเกิน 20 ไร่ จะได้เป็นหนังสืออนุญาตให้ทำการปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นภายในเขตปรับปรุงป่าไม้สงวนแห่งชาติ หรือ สทก.1 ข แต่การถือครองต้องไม่เกินครอบครัวละ 35 ไร่ อายุการอนุญาต 10 ปี และเสียค่าธรรมเนียมไร่ละ 20 บาท

โดยหนังสืออนุญาตนี้จะไม่ใช่กรรมสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดิน ทำให้ไม่สามารถซื้อขายที่ดินได้ ยกเว้นตกทอดทางมรดกเท่านั้น และหากใครไม่ทำประโยชน์ติดต่อกัน 2 ปี ก็จะถูกเพิกถอนสิธิทำกินด้วย

ภ.บ.ท.5
เป็นแบบยื่นภาษีบำรุงท้องที่ หรือเรียกกันว่าภาษีดอกหญ้า โดยพื้นที่นี้เป็นที่ดินมือเปล่า แต่ไม่ใช่เอกสารสิทธิ เพราะเป็นเพียงเอกสารรับรองการเสียภาษี และอ้างอิงการครอบครองที่ดินเท่านั้น พูดง่ายๆ เหมือนเราไปเช่าที่ดินรัฐอยู่ ดังนั้นเจ้าของก็ยังเป็นของรัฐ ทั้งนี้ไม่สามารถซื้อขายได้ เพราะไม่มีกฎหมายรับรอง แต่ก็ยังมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกัน

หากถามว่าจะนำไปออกเอกสารสิทธิได้หรือไม่? คำตอบก็คือ ทำได้ แต่จะเกิดขึ้นในกรณีที่รัฐบาลเรียกให้ผู้ถือครองนำมาออกเอกสารสิทธิเท่านั้น ที่สำคัญพื้นที่นั้นต้องไม่อยู่ในเขตของป่าไม้ ทหาร หรือกรรมสิทธิของคนอื่น ทั้งนี้หากตรวจพบเป็นพื้นที่ทับซ้อนป่าไม้ หรือที่ทหาร รัฐก็มีสิทธิเรียกคืนที่ดินดังกล่าว


แหล่งที่มาข้อมูล : https://baanbaan.co/story/สรุปแล้ว-โฉนดที่ดิน-แบ่งเป็นกี่ประเภท-สิทธิ์ครอบครองต่างกันอย่างไร/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้